“ทีเส็บ” ยกระดับดันไมซ์สู่เวทีโลก ย้ำภาพแพลตฟอร์มพัฒนาประเทศ

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ทีเส็บประมูลสิทธิงานไมซ์ระดับโลกได้กว่า 440 งาน ให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 6,300 งาน คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ผู้ประกอบการไมซ์กว่า 650 รายทั่วโลกยกให้ประเทศไทยเป็น Top of Mind ที่มีความโดดเด่นในด้านความคุ้มค่า มีเอกลักษณ์ พร้อมในการรองรับนักเดินทาง และมีภาพลักษณ์ที่ดี

ปี’67 รายได้ 1.4 แสนล้าน

“ดร.อรรชกา สีบุญเรือง” ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ บอกว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด อุตสาหกรรมไมซ์ปี 2566 ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณ 50% ของปี 2562

และตั้งเป้าว่าปีนี้ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุตสาหกรรมไมซ์จะกลับมาอยู่ในระดับประมาณ 75% ของปี 2562 หรือมีรายได้รวมที่ 140,000 ล้านบาท

โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2566-31 มีนาคม 2567) พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เข้ามาแล้ว 13 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของเป้าหมาย 23 ล้านคน และมีรายได้ 77,000 ล้านบาท หรือประมาณ 60% ของเป้าหมายรายได้ทั้งปีเช่นกัน

“ตัวเลขครึ่งปีแรกดีมาก ตอนนี้เรากำลังลุ้นกันว่าทั้งปีเราจะสามารถทำได้ถึง 80% ของปี 2562”

และบอกด้วยว่า วันที่ 26 เมษายนของทุกปีเป็นวัน National MICE Day หรือวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ โดยปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Connecting the World, Elevating the Economy : เชื่อมต่อโลกด้วย MICE ยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก

ทั้งนี้ เพื่อให้ไมซ์เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาประเทศ

ไทยปลายทาง “ตลาดไมซ์” โลก

“ดร.จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ไทยเป็นแพลตฟอร์มในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ

ตลอดเวลา 20 ปีของการก่อตั้ง องค์กรได้เรียนรู้ และพยายามจะเชื่อมโยง (Connectivity) อุตสาหกรรมทั้งหลายเข้าด้วยกัน และบ่มเพาะประสบการณ์การจัดงานเพื่อพัฒนายกระดับปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของตลาดไมซ์โลก

“ตลอดระยะเวลา 21-22 ปี อุตสาหกรรมไมซ์มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ต้องปิดสถานที่ต่าง ๆ และที่เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่คือ ปรากฏการณ์ของภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่กล้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

ปัจจุบันอันดับของอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยในเวทีโลกดีขึ้นมาก โดยข้อมูลจากสมาคมการจัดประชุมนานาชาติ หรือ International Congress and Convention Association (ICCA) ระบุว่า ข้อมูลปีล่าสุดคือในปี 2565 ในด้านของสถานที่จัดประชุม (Convention) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน อันดับ 7 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอันดับที่ 32 ของโลก

ส่วนด้านเอ็กซิบิชั่นเทรดโชว์นั้น สมาคมการแสดงสินค้าโลก (UFI) ผู้จัดอันดับในระดับโลก ระบุว่า ปี 2565 ประเทศไทยอยู่อันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 4 ของเอเชีย-แปซิฟิก

ตัวชี้วัดเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่อินเตอร์เนชั่นแนลให้ความสำคัญทั้งสิ้น

ชู MICE Foresight รับอนาคต

“ดร.จิรุตถ์” บอกว่า วันนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนและใช้ไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ และตั้งธงให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายในการจัดงานนานาชาติ ตามที่ได้ประกาศนโยบาย IGNITE Thailand และดูจากการสื่อสารจะเห็นว่ารัฐบาลก็เริ่มให้ทีเส็บทำงานในลักษณะที่เป็น “เมกะอีเวนต์” มากขึ้น

ขณะที่โลกมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงและมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ AI หรือเรื่องจีโอโพลิติกที่ไม่แน่นอน ลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน

โดยที่ผ่านมาทีเส็บได้จัดทำ MICE Foresight เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไมซ์ในอนาคตเช่นกัน และทำให้เห็นโอกาสในอนาคต โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.Urban QOL & Mobility การพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

2.Food Security การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร 3.Creative Soft Power ธุรกิจสร้างสรรค์ไทยกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ และ 4.Health-Tech Innovation ยกระดับธุรกิจสุขภาพ หรือ Wellness Hub

“วันนี้เราสมารถดึงงาน Money 20/20 งานแสดงเทคโนโลยีทางด้านการเงินระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย ซึ่งผู้จัดงานก็บอกชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เขาอยากมา นอกจากนี้เรายังกำลังจะมีงานประชุม World Diabetes Congress 2025 การประชุมนานาชาติด้านการแพทย์ ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกกว่า 10,000 คน”

รวมถึงงานด้าน Creative Soft Power โดยเฉพาะงานด้านสปอร์ต ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้ทีเส็บร่วมจัด อาทิ การแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน (Formula 1) การแข่งขันรถ FE (รถกำลังงานไฟฟ้า) รวมถึงงาน World Pride 2030 ที่จะทำให้ปี 2030 มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ เดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนตลอดทั้งปี เป็นต้น

มุ่ง High Value-Sustainability

“ดร.จิรุตถ์” บอกอีกว่า จากงานระดับนานาชาติและคอนเน็กชั่นของทีเส็บจะทำให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value Added Destination) และเชื่อด้วยว่าด้วยความพร้อมและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมทั้ง 4 ข้างต้นจะเป็นสปริงบอร์ดในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเชีย

“กว่าเราจะทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นที่รู้จักก็ใช้เวลานานพอสมควร และการสร้างคอนเน็กทิวิตี้คือสิ่งที่เราทำมาตลอด แต่หลังจากที่เราทำ MICE Foresight ก็พบว่าเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ วันนี้เราต้องเป็นผู้ร่วมสร้างโดยใช้จุดแข็งเรื่องคอนเน็กทิวิตี้”

พร้อมทั้งบอกว่า การใช้ไมซ์ในการจัดงานเพื่อการเติบโตทางธุรกิจนั้นมี 2 แนวทางที่ทำให้เห็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาประเทศได้ในอนาคตคือ เรื่องของ Innovation เช่น การใช้ AI ทำให้เกิดประสบการณ์เหมือนจริง และ Sustainability ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเดินต่อไปในอนาคต

ประเด็นสำคัญคือ ทีเส็บขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ช่วยกันผลักดันและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้และดึงนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยหวังว่ากิจกรรมไมซ์หลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ และสามารถกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ทีเส็บ” ยกระดับดันไมซ์สู่เวทีโลก ย้ำภาพแพลตฟอร์มพัฒนาประเทศ

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-05-01T07:41:43Z dg43tfdfdgfd