สงครามใหญ่แย่งนักท่องเที่ยว ธุรกิจไทยชงแผนแม่บทต่อยอดวีซ่าฟรี

“วีซ่าฟรี” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จุดพลุท่องเที่ยวไทย ภาคเอกชนชี้เป็นยาแรงที่สุด ชงรัฐบาลเร่งทำ “มาสเตอร์แพลน” พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน ผนึกทุกกระทรวงพัฒนาซัพพลายไซด์ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว สนามบิน ระบบคมนาคม จนถึงบุคลากรรับนักท่องเที่ยว 40-60 ล้านคน แก้ปมท่องเที่ยวกระจุกเมืองหลัก ลั่นทั่วโลกเปิด Tourism war game แย่งชิงนักท่องเที่ยว ย้ำเข้าไทยทะลัก ปัญหาใหญ่คือท่องเที่ยวโตไม่เต็มศักยภาพ แนะปรับโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ สร้างสมดุลควบคู่พัฒนา ชี้ถ้าไม่แก้ปัญหาต่าง ๆ นโยบายวีซ่าฟรีก็อาจไร้ประโยชน์

“ประชาชาติธุรกิจ” จัดเสวนา Prachachat In Depth หัวข้อ “วีซ่าฟรี” จุดพลุท่องเที่ยวไทย…เดินต่ออย่างไรให้ยั่งยืน ! เพื่อประเมินผลตอบรับจากมาตรการของรัฐบาล แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และถึงข้อเสนอแนะในการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมีผู้ร่วมเสวนา 2 คน ได้แก่ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

“วีซ่าฟรี” ยาแรง-ทรงพลัง

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า การปลดล็อกเรื่องวีซ่าด้วยการให้วีซ่าฟรีครั้งนี้ของรัฐบาลถือเป็นยาตัวที่แรงที่สุด มีประเทศที่ยกเว้นวีซ่ามากที่สุด ทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้เร็วที่สุดหลังจากเปิดประเทศ

แต่ประเด็นความท้าทายคือ เมื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ประเทศเรามีการบริหารจัดการด้านซัพพลายไซด์รองรับอย่างไร หรือมีความพร้อมในการรองรับได้แค่ไหน และจะบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอย่างไรเพื่อไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ 7-10 จังหวัดหลัก เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

รวมถึงจะทำให้เกิดโอกาสทางการค้า การลงทุนที่มากับการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร และจะมีมาตรการกระจายนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ และทำให้การท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างไร

“กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยพยายามพูดถึงเมืองรอง 55 จังหวัด แต่วันนี้การเคลื่อนตัวของนักท่องเที่ยวไปเมืองรองก็ยังมีไม่มาก สุดท้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงกระจุกตัวอยู่เมืองหลักไม่กี่จังหวัดเหมือนเดิม” ดร.อดิษฐ์กล่าว

ชงทำ “มาสเตอร์แพลน”

ดร.อดิษฐ์กล่าวด้วยว่า นโยบายหลักของภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังวัดผลเพียงแค่ “ตัวเลขรายได้” และ “จำนวนนักท่องเที่ยว” เป็นหลัก ไม่ได้มองในด้านการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง และการพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ขณะที่รัฐบาลประกาศให้ปี 2025 หรือปี 2568 ให้การท่องเที่ยวเป็น “วาระแห่งชาติ” ดังนั้น ประเทศไทยควรหันกลับมามองโครงสร้างพื้นฐาน และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โดยจัดทำหรือมีแผนแม่บท “Thailand Tourism Carrying Capacity” หรือแผนการพัฒนาท่องเที่ยวระยะยาว เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มเป็น 40 ล้านคน 50 ล้านคน หรือ 60 ล้านคนในอนาคต พร้อมทั้งมีดัชนีชี้วัดในฝั่งซัพพลายเพื่อเอาดีมานด์ไซด์มาใส่ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสอดรับกับศักยภาพในการรองรับและเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย

เช่น ภูเก็ต มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 14 ล้านคน ต่อไปใน 1 ปี ภูเก็ตไม่ควรรับนักท่องเที่ยวเกิน 14 ล้านคน เพราะถ้าเกินจะเป็นการสร้างปัญหาให้เมือง อาทิ น้ำประปา-ไฟฟ้าไม่เพียงพอ การจราจรติดขัด เป็นต้น

“เมืองอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวในระดับที่เท่าไหร่ เมื่อทุกจังหวัดมีตัวเลขการรองรับที่ชัดเจน เราก็จะสามารถบริหารจัดการนักท่องเที่ยวลงไปให้เหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบกับคนในพื้นที่” ดร.อดิษฐ์กล่าว

กระจายนักท่องเที่ยว-รายได้สู่เมืองรอง

รวมถึงการมีกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพัฒนาซัพพลายไซด์ด้านการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับศักยภาพทั้งในส่วนของโรงแรม สนามบิน ระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จนถึงบุคลากรที่มีศักยภาพ ฯลฯ

นอกจากนี้ ควรมีอินเซนทีฟจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบินตรงลงเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก และลดความแออัดของสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ขณะเดียวกันยังทำให้สามารถกระจายนักท่องที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เช่น กรณีเมืองฟุกุชิมะเกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตอนนั้นเข้าญี่ปุ่นยังต้องขอวีซ่า แต่ครั้งนั้นญี่ปุ่นใช้มาตรการยกเว้นวีซ่าให้สำหรับคนที่เดินทางเข้าเมืองฟุกุชิมะ เช่นเดียวกับกรณีของจีนที่ต้องการยกระดับเมืองไหหลำ ขึ้นมาแทนฮ่องกง ในช่วงที่เดินทางเข้าจีนยังต้องขอวีซ่า จีนก็ยกเว้นวีซ่าให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าไหหลำ เป็นต้น

ดร.อดิษฐ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าการประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติในปี 2568 นั้น การท่องเที่ยวจะสร้างคุณภาพชีวิตให้คนไทยทั้งประเทศอย่างไร และทำให้คนไทยทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ทำอาชีพท่องเที่ยวก็ต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

สงครามแย่งนักท่องเที่ยว

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า วีซ่าฟรีเป็นนโยบายที่ทรงพลังมากที่สุด และเห็นผลชัดเจนทันที อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เปิดประเทศหลังโควิด ทุกประเทศทั่วโลกต่างใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงมาตรการวีซ่าฟรี ส่งผลให้เกิดสงครามแย่งชิงนักท่องเที่ยว หรือ Tourism War Game เพราะหลายประเทศก็หันมาใช้นโยบายวีซ่าฟรีเช่นกัน เพราะหลาย ๆ ประเทศก็มีปัญหาเศรษฐกิจ ก็หันมามุ่งเน้นใช้การท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อยากได้ 60 ล้านคนต้องทำ 5 ข้อ

ถ้าต้องการนักท่องเที่ยว 40-60 ล้านคน ประเทศไทยต้องปรับปรุงวิธีการจัดการใหม่ทั้งหมด เพื่อรักษาสมดุลควบคู่การพัฒนา กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง จะต้องทำดังนี้ 1.ต้องมีนักท่องเที่ยว MICE ให้ได้ 10 ล้านคน 2.ยกระดับไทยให้เป็นเมืองเกษียณโลก 3. ขายกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวเป็นคลัสเตอร์ 4. ทำแผน Customer journey 5.ต้องมีตัวชี้วัดผลงานการท่องเที่ยวระดับชาติทุกกระทรวง

โดยสิ่งที่ สทท.นำเสนอมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ Redesign หรือการปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสร้างสมดุลในหลาย ๆ มิติ ตอบโจทย์ให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน อาทิ สมดุลเมืองหลัก-เมืองรอง หรือการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ หรือ Over-under Tourism ในเมืองท่องเที่ยวหลักสมดุลในด้านสินค้า ลดการพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว Man-made และเพิ่มโฟกัสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและไมซ์ ฯลฯ เป็นต้น

“วันนี้เรื่องของดีมานด์ของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวไทยไม่ใช่ปัญหา ประเด็นคือเราต้องมาดูด้านซัพพลายไซด์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง โดยที่ผ่านมาอาจมีการพูดเชิงนโยบาย แต่ยังขาดการปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว

รวมถึงไกด์ที่มีคุณภาพ ห้องน้ำ จุดพักรถ บริการสาธารณะต่าง ๆ โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวยังกระจุก ไม่กระจาย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าการเดินทางไปเมืองรองยังไม่สะดวก รวมถึงการใช้บริษัทนำเที่ยวเป็นตัวช่วยในการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ที่ต้องการกระจายรายได้ลงไป” นายชำนาญกล่าว

ท่องเที่ยวไทยโตไม่เต็มศักยภาพ

นายชำนาญกล่าวอีกว่า ส่วนตัวตนมองว่าวันนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ กล่าวคือยังสามารถผลักดันให้เติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อีก โดยไม่สร้างปัญหาและไม่เกิดความแออัด เพียงแต่ต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง หรือหลักการ Redesign การท่องเที่ยวใหม่

อาทิ การโปรโมตคลัสเตอร์เพื่อการท่องเที่ยว เช่น คลัสเตอร์ 6 จังหวัดอันดามัน คลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ฯลฯ และใช้การตลาดเป็นตัวชี้นำ เพื่อกระจายโอกาสของเมืองรองที่อยู่รอบเมืองหลัก

รวมถึงเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของ Man-made Attraction และมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น ที่เสนอให้จังหวัดพังงา เป็น “เมืองเกษียณโลก” การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและไมซ์ การท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ เพื่อสร้างสมดุลในด้านสินค้า ลดการพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้รัฐบาลช่วยดูแลด้านซัพพลายไซด์ด้วยการเติมทุน เติมนวัตกรรม เติมความรู้ให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวประมาณ 90% เป็น SMEs มีโอกาสเดินหน้าควบคู่ไปกับการกระตุ้นการท่องที่ยว และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับนักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็น 40 ล้านคน หรือ 50-60 ล้านคนในอนาคต

“จากนี้ไปจะเป็น Tourism War Game แต่ถ้าแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้ไม่ดี นโยบายวีซ่าฟรีก็พัง” นายชำนาญกล่าว

เป้า 35 ล้านคนปีนี้ไม่มีปัญหา

นายชำนาญกล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติสำหรับปีนี้ด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าเรื่องของ Customer Journey เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประทับใจและเกิดการบอกต่อ จะทำให้การเติบโตเชิงจำนวนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เรื่องดีมานด์ไซด์เป็นประเด็นที่ไม่น่าเป็นกังวลสำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย

“ผมย้ำมาตลอดว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สุดของเราคือ ซัพพลายไซด์ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่ได้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่ ททท.ก็ทำบทบาทด้านการตลาดเป็นหลัก” นายชำนาญกล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคนในปีนี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยเป็นการเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านคน จากปี 2566 ที่มี 28.5 ล้านคน โดยสมาคมประเมินว่าตลาดหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ประกอบด้วย ยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย จะเพิ่มขึ้นตลาดละ 5 แสนคน ไต้หวันเพิ่มขึ้น 3 แสนคน

ขณะที่เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมกันน่าจะเพิ่มขึ้น 5 แสนคน อาเซียน 5 แสน ส่วนจีนซึ่งเป็นตลาดที่โฟกัสมากที่สุดนั้น ปีนี้น่าจะบรรลุเป้าหมาย 8 ล้านคนได้ จากปี 2566 ที่มีจำนวน 3.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5 ล้านคน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สงครามใหญ่แย่งนักท่องเที่ยว ธุรกิจไทยชงแผนแม่บทต่อยอดวีซ่าฟรี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-30T23:55:31Z dg43tfdfdgfd